ในโลกยุคปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนมากที่มีการดำเนินงานและการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศของตน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตด้วยการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนและทรัพยากรต่าง ๆ ข้ามประเทศ ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนและมีความเสรีมากขึ้น จากสถานการณ์โลกโยคปัจจุบันนี้ สามารถกล่าวได้ว่า "ภาษา" กลายมาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มความสามารถในการสื่อสารกับบุคคลจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของความเข้าใจผิด และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางวิชาชีพที่เข้มแข็ง
ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์จากประเทศผู้ลงทุน แต่หลายบริษัทยังคงแสวงหาพนักงานในท้องถิ่นที่มีทักษะทางภาษาเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นคนกลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้แขนงต่าง ๆ ดังนั้นการรู้ภาษาที่สามจึงทำให้มนุษย์กลายมาเป็นทรัพย์สินที่มีค่าสำหรับบริษัทที่ต้องการขยายหรือมีส่วนร่วมกับตลาดต่างประเทศ โดยในตลาดงานที่มีการแข่งขันสูง การมีความเชี่ยวชาญในภาษาที่สามจะทำให้ผู้สมัครมีความแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น ๆ อีกทั้งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ และช่วยเพิ่มโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพ สิ่งเหล่านี้ย่อมมาพร้อมกับโอกาสที่จะได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น เนื่องจากพนักงานที่สามารถเข้าใจบริบททางภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมักจะได้รับการส่งเสริมให้ดำรงตำแหน่งผู้นำและถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีแอพลิเคชันต่าง ๆ ในการแปลภาษามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ แต่ความเข้าใจความแตกต่างของวัฒนธรรมยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการติดต่อสื่อสาร สร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่เครื่องมือทางเทคโนโลยีไม่อาจทดแทนได้อย่างสมบูรณ์
การเรียนรู้ภาษาที่สามจึงยังคงเป็นการเปิดประตูสู่เส้นทางอาชีพที่หลากหลาย และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งในตลาดงานทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น วิศวกรรม การท่องเที่ยว การโรงแรม การเงิน การจัดซื้อ กฎหมาย การดูแลสุขภาพ การบริการ เทคโนโลยี ฯลฯ ยังคงต้องการบุคลากรที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศได้ และปัจจุบันประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งจากกลุ่มประเทศเอเชียและกลุ่มประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ